มหัศจรรย์ 3,000 โบก ( แกรด์แคนย่อนเมืองไทย)
3,000 โบก คือไร ? หลายคนคงเกิดอาการนี้เหมือนผมเมื่อหลายปีก่อน
ได้ยินแล้วงงๆ เพราะไม่เคยรู้จักมาก่อน และไม่รู้ภาษาถิ่นด้วย โบก
มาจากภาษาอีสานแปลว่า หลุม บ่อน้ำลึก 3,000 โบกก็หมายถึงแอ่ง บ่อน้ำลึก
จำนวนมากมาย 3000 หลุมซื่งเริ่มมีชื่อเสียงได้ยินมากัน 2-3 ปีหลังจากการโปรโมท
ของการท่องเที่ยวประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของอุบลราชธานี
โบก อันเกิดจากกระแสน้ำได้พัดพาก้อนกรวด หิน ทราย และเศษไม้
กัดเซาะขัดแผ่นหินทรายให้เกิดเป็นหลุมแอ่ง มีขนาดเล็กๆจนถึงขนาดใหญ่
จำนวนมากมาย หินบางก้อนถูกกัดกร่อนคล้ายงานแกะสลักเป็นรูปสัตว์ รูปหัวใจ
รูปมิกกี้เมาส์จากโบกจำนวนมากมายจนสถานที่แห่งนี้ถูกขนานนามว่า
“สามพันโบก”
สามพันโบก ถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด
ในลำน้ำโขงเท่าที่ทราบกันมา ซึ่งในบริเวณเดียวกันมีสถานที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า
แกรนแคนยอนเมืองไทยอันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำหลายพันปี ตามแนวเส้นทาง
เลาะทางแม่น้ำโขงที่คุ้นหูเรานั้นเองครับมองเห็นฝั่งประเทศลาวฝั่งตรงข้ามได้ไม่ไกลเลย
เป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3-7 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร
ซึ่งตามแนวเส้นทางของโบกทุกระยะทางจะมีหินรูปร่างหน้าตาแปลกๆ
หรือบ่อน้ำที่สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจให้เราได้ชมกันครับเช่นบ่อ มรกต หรือบ่อรูปหัวใจ
โดยที่เด่นๆ ก็จะเป็นหินรูปหัวสุนัข ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันต่างๆ นานา บ้างก็ว่า
แต่ก่อนมีเจ้าเมืองเป็นผู้เรืองอำนาจประทับใจความงามของสามพันโบก
จึงได้ส่งเสนามาศึกษาเพิ่มเติมเมื่อมาแล้วพบขุมทรัพย์เป็นทองคำจึงให้สุนัข
เฝ้าทางเข้าจนกว่าเจ้าเมืองจะออกมาเมื่อเจ้าเมืองได้เห็นสมบัติเกิดความโลภ
กลัวเสนาจะได้ส่วนแบ่งจึงได้ออกไปทางอื่น สุนัขผู้ภักดีก็เฝ้ารออยู่ตรงนั้น
จนตายในที่สุด
บางตำนานก็ว่าลูกพญานาคในลำน้ำโขงเป็นผู้ขุดเพื่อให้เกิดลำน้ำอีกสายหนึ่ง
และได้มอบหมายให้สุนัขเป็นผู้เฝ้าทางระหว่างการขุดจนกระทั่งสุนัขได้ตายลง
กลายเป็นหินรูปสุนัขในที่สุด
การเดินชมโบกที่นี่ควรเดินด้วยความระมัดระวังด้วยนะครับ บางจุด บางโบกมีความลึกมาก
หากพลัดตกลงไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ หรือการปีนป่ายไปตามยอดหินรูปต่างๆ
ก็สูงจากจุดที่เป็นทางน้ำเหมือนกันครับ ควรเดินดูไลน์หินและเดินด้วยความระมัดระวังครับ
ควรใช้รองเท้าที่ยึดเกาะดีๆ หรือถอดรองเท้าเดินจะดีกว่า ( อันนี้ความถนัดส่วนตัวครับ ) ^^”
ที่ท่านเดินชมอยู่นั้นคือเรากำลังเดินอยู่ก้นบึงบาดาลของแม่น้ำโขงเลยนะครับ
ถ้าหากเป็นช่วงฤดูฝน หรือน้ำขึ้นโขดหิน โบกต่างๆ เหล่านี้ คืออยู่ใต้แม่น้ำทั้งหมดเลยครับ
ดังนั้นใครที่จะคิดไปเที่ยวที่นี่วางแผนให้ดีนะครับ ว่าน้ำลดหรือขึ้นหรือยัง ช่วงที่นิยมไป
ก็เป็นฤดูหนาว จนถึงฤดูร้อน ประมาณ พฤศจิกายน – พฤษภาคม ของทุกช่วงปีครับ
ถ้ามานอกจากนี้ ก็เตรียมชุดประดาน้ำไปชมโบกแทนนะครับ ^^”
ถ้ามาที่นี่ในจะมีจุดให้เราจอดรถและเข้าไปดูได้ 2 จุดใหญ่ๆ ครับ และจะมีไกด์ท้องถิ่น
นำทางเราไปด้วย ถ้าในฤดูท่องเที่ยวจะมีรถกระบะ ไว้บริการตอนลงครับ ( จุดที่ 2 )
เพราะทางลงนั้นก็เหมือนขับรถลงไปทางแม่น้ำครับ มีหิน มีโขดหินใหญ่ๆ ตลอด
รถเก๋งเลิกคิดเลยแต่ถ้าเป็นอีกจุดหนึ่งจะมีลานกางเต๊นท์ไว้บริการด้วย ( แต่พื้นที่ไม่มากนัก )
จุดนี้จะเดินลงไปใกล้กว่าครับ ( จากทางเข้าจะผ่านจุดนี้ก่อน )
ทีพัก
หากใครอยากชมความงามของ 3,000 โบก แบบชิดใกล้ตื่นมาก็ เดินที่โบกเลย
ก็เข้าไปที่จุดชมโบกจุดแรกเลย จะมีพื้นที่ให้เช่ากางเต๊นท์ได้ครับ
แต่หากท่านที่ต้องการความสะดวกบรรยากาศสบายก็ต้องขับเลยไปที่หาดสลึงครับ
จะมีที่พัก รีสอร์ทต่างๆให้เลือกพักมากมายครับ แล้วตอนเช้าค่อยขับรถไปชมโบก
อาหารที่นี่อร่อยมากครับอันนี้แอบแนะนำเลย นั่งชิมปลาสดจากแม่น้ำโขง
ที่ริมโขงลมพัดเย็นๆ มันยอดจริงๆ เลยครับหรือลองหาที่พักในตัวเมืองใกล้ๆ เคียง
ลองคลิกดูได้ >> ที่นี่ << ครับ
แผนที่และการเดินทาง
1. รถยนต์ส่วนตัว
จากจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทาง 120 เมตร วิ่งตามทางหลวงหมายเลข 2050
ผ่านอำเภอตระการพืชผล ไปยัง อำเภอโพธิ์ไทร ด้วยระยะทางประมาณ 110 กม.
และเดินทางต่อไปยังบ้านสองคอนเข้าไปหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร
อีกเส้นทาง ตอนผมไปทาง อ.โขงเจียม ผ่าน อช.ผาแต้ม แล้วขับถนนเส้น 2112
เส้นทางถนนราดยางก็จริงกครับ แต่สภาพทางไม่ค่อยดีนัก ทางเป็นรอนๆๆๆ
ตลอดทางครับทำให้ใช้ความเร็วได้ไม่มาก ( สำหรับรถเก๋งครับ )
ข้างทางตอนฤดูแล้งจะพบเจอไฟไหม้ป่าแทบตลอดทางโปรดขับด้วยความระวังครับผม
2. รถโดยสารประจำทาง
มีรถทัวร์ปรับอากาศของบริษัท เชิดชัยทัวร์จากกรุงเทพฯ – สองคอน ลงที่สองคอน
หลังจากนั้นก็โทรแจ้งให้รีสอร์ท ขับรถมารับ (เสียค่าใช้จ่ายแล้วแต่ตกลง)
หรือ อาจจะอาศัยโบกรถของชาวบ้านมาลงแถวนั้น
ฤดูร้อนนี้หากยังไม่รู้จะไปไหน ลองไปที่นี่ดูสิครับอาจจะเดินทางไกลสักหน่อย
แต่รับรองว่าถ้าคุณไปได้ถูกที่ ถูกเวลา มันจะงามมากๆ ครับ
พาคนที่คุณรัก พาเที่ยว พาไปทั่วไทยกันครับ ที่นี่ 3,000 โบก
รูปภาพจาก http://rukawajung.multiply.com ( ของผมเอง)
Share this: Twitter | StumbleUpon | Facebook | digg